JOB LIGHTING สาระอื่น ๆ เลือกโคมไฟแบบไหน ให้ไฉไลสุดสุด

เลือกโคมไฟแบบไหน ให้ไฉไลสุดสุด

เลือกโคมไฟแบบไหน ให้ไฉไลสุดสุด

วันนี้เราจะมาแนะนำวิธีเลือกโคมไฟให้เข้ากับห้องของเรา และการเสริมสร้างบรรยากาศด้วยโคมไฟค่ะ

โคมไฟภายในบ้านของเรา อาจจะรู้สึกดูเหมือนเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยสำหรับคนที่เริ่มแต่งบ้านส่วนใหญ่นะคะ แถมเจ้าโคมไฟนี้ยังมีมากมายหลายประเภท ตั้งแต่แบบตั้งพื้นเอย ตั้งโต๊ะเอย แขวนเดี่ยวๆ ก็มี แขวนเป็นกลุ่มก็เยอะ เล่นเอาตาลาย เลือกไม่ค่อยจะถูก เวลาต้องไปที่ร้านขายโคมไฟที เล่นเอาเมื่อยตาแทบแย่ แถมราคาของแต่ละร้านก็ไม่ค่อยจะเท่ากัน บางทีแบบเดียวกัน แต่ราคาต่างกันเกือบครึ่งก็มี ทำเอาหลายต่อหลายคนขยาดกันเป็นแถว เวลาจะต้องไปเลือกซื้อไฟ ซึ่งอาการแบบนี้ ไม่ใช่แค่คนทั่วไปหรอกค่ะ ขนาด Designer ของเรา เวลาไปซื้อไฟที ยังต้องทำการบ้านกันล่วงหน้าให้แม่นๆ ไม่งั้นตกม้าตายต่อหน้าลูกค้าเอาดื้อๆ เลยก็มี

 โดยส่วนตัวแล้ว ชอบไปดูโคมไฟค่ะ (แต่ไม่ค่อยชอบซื้อ เพราะไม่มีตังค์) โคมไฟสวยๆ ถ้าจัดวางดีๆ ให้เหมาะกับมุมต่างๆ ของห้องและเหมาะกับการใช้สอยภายในบ้านแล้วละก้อ ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ เลยทีเดียว เพราะเจ้าโคมไฟต่างๆ นี้ ไม่ใช่แค่ให้แสงสว่างออกมาเท่านั้นนะคะ แต่จะเพิ่มความสวยงามให้กับห้องด้วยฟอร์มสวยๆ ของตัวโคมเองได้อย่างเหลือเชื่อเสมอ ขนาดโคมไฟสนามราคาถูกๆ ถ้าเปิดตอนกลางคืนในสนามหญ้าโล่งๆ แล้วจัดวางเก้าอี้สนามเก๋ๆ ไว้ข้างๆ รับรองว่ารายไหนรายนั้น ต้องมีอันเข้าไปนั่งเล่น นั่งอ่านหนังสือจนกว่ายุงจะกัดจนลายพร้อยไปแน่ๆ

เคล็ดไม่ค่อยลับในการเลือกซื้อและจัดวางโคมไฟของเรา ก็มีอยู่หลายข้อเหมือนกัน รำเพยจะค่อยๆ บรรยายไปเรื่อยๆ นะคะ จะได้ไม่เครียดมาก

             ห้องโดยทั่วไป มักจะมีการออกแบบแสงสว่างที่ “ลง” มาจากเพดาน อันเป็นที่มาของคำว่า Down Light นั่นแหละค่ะ ซึ่งเจ้าแสงสว่างเหล่านี้ จำเป็นจะต้องได้รับการออกแบบให้เพียงพอต่อกิจกรรมการใช้สอยทั่วไปภายในห้องนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นห้องรับแขก ก็ควรมีแสงสว่างเพียงพอต่อการเดิน การนั่งพูดคุย หรืออ่านจดหมายสั้นๆ ได้บ้าง หรือถ้าเป็นห้องครัวหรือ Pantry เราก็ควรจะจัดแสงสว่างให้เพียงพอต่อการทำอาหารได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องสว่างกว่าห้องรับแขกแน่ๆ แต่ถ้าเป็นห้องนอน เราก็อาจจะลดความสว่างลงบ้าง ให้เหลือพอสำหรับกิจกรรมทั่วๆ ไปก่อนนอนเท่านั้น

             แสงสว่างจำพวกนี้ จัดได้ว่าเป็นแสงประเภท “Ambient Light” คือเป็นแสงสว่างทั่วไปสำหรับใช้แทนแสงอาทิตย์ในตอนกลางคืน เหมาะสำหรับการใช้งานปกติ แสงสว่างนี้จัดว่าเป็นแสงสว่างขั้นพื้นฐานของงานออกแบบทั่วไปเลยทีเดียวค่ะ

อย่างไรก็ดี เจ้าแสงสว่างแบบนี้ จะเป็นแสงที่กระจายความสว่างเท่ากันไปทั่วทั้งห้อง และมักจะสร้างความรู้สึกที่ “แบน” ปราศจากมิติ และไม่เพียงพอสำหรับกิจกรรมเฉพาะอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ทำงาน หรือแม้แต่ทำครัว ดังนั้น ถ้าเราจะอ่านหนังสือบนเตียง หรือในห้องรับแขก แน่นอนว่าแสงสว่างที่กล่าวไว้ข้างต้นก็จะไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และเราควรจะเพิ่มแสงสว่างจากโคมไฟเพื่อตอบสนองต่อกิจกรรมต่างๆ ของเราให้เหมาะสม ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นที่มาของการเลือกใช้แสงสว่างประเภท “Functional Light” ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า เป็นแสงสว่างสำหรับการใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ

โคมไฟตั้งโต๊ะและตั้งพื้นส่วนใหญ่ มักจะถูกเลือกให้เป็นแสงสว่างแบบ Functional Light เพราะมักจะมีการกำหนดไว้ค่อนข้างแน่นอนถึงวัตถุประสงค์ของมัน เช่น ถ้าเอาไว้ข้างเตียง ก็คงเอาไว้อ่านหนังสือก่อนนอน แต่ถ้าเอาไว้บนโต๊ะทำงาน ก็ต้องเอาไว้เขียนหนังสือ หรือทำงาน เป็นต้น

ทีนี้ เจ้าโคมไฟแบบตั้งโต๊ะหรือตั้งพื้นนี้ นอกจากจะให้แสงสว่างเพื่อการใช้งานตามที่กำหนดแล้ว ยังให้มิติแก่ห้องอีกด้วย เพราะแสงสว่างจากโคมแบบนี้ จะมาจากจุดกำหนดแสงแล้วสว่างออกมาโดยรอบ (ไม่เหมือนกับโคมดาวน์ไลท์ ที่ให้แสงลงมาเพียงมิติเดียว) ทำให้เกิดแสง (Light) และแสงจ้า (Hi Light) รวมทั้งเงา (Shade) และเงามืด (Shadow) อีกด้วย และนอกจากนี้ การที่โคมเหล่านี้ จะสูงไม่มากนัก ทำให้ได้แสงที่พุ่งลงมา (Downward) และแสงพุ่งขึ้นไป (Upward) รวมทั้งแสงที่ออกมาตรงๆ ซึ่งมักจะผ่านโคมบังไฟออกมาอีกด้วย ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้เองที่ทำให้เกิดมิติที่มาจากแสงได้

            โห…เหนื่อยจัง….

แล้วนอกจากมิติที่ได้จากแสงสว่างประเภทนี้แล้ว รูปร่างหน้าตา และทรวดทรงองค์เอวของโคมไฟแบบต่างๆ ก็ยังช่วยเติมจินตนาการและความสวยงามให้กับห้องได้อย่างสุดวิเศษ ยิ่งถ้าได้เลือกแบบที่เหมาะๆ กับบรรยากาศของห้องแล้วด้วยละก้อ จะช่วยเนรมิตห้องธรรมดาๆ ให้เก๋ขึ้นได้มากโขเลยค่ะ

เอาล่ะค่ะ ที่นี้ เราคงจะรู้จักเจ้าโคมไฟตั้งโต๊ะ และตั้งพื้นกันมาพอสมควรแล้ว แต่พอถึงเวลาที่เราจะเลือกโคมเหล่านี้ไว้ใช้ในบ้านล่ะ เราจะเลือกใช้แบบไหนดี ถึงจะเหมาะกับบ้านของเราใช่มั้ยคะ เอาเป็นว่าเวลาที่รำเพยออกไปเลือกโคมไฟ เราจะเริ่มต้นจากขนาดของโคมก่อน เพราะขนาดของโคมไฟจะมีผลค่อนข้างมากต่อแสงสว่างที่ได้รับ และก็จะมีผลกระทบต่อห้องโดยรวมด้วยค่ะ ซึ่งรำเพยจะแบ่งขนาดของโคมไฟตั้งโต๊ะแบบง่ายๆ ออกเป็น 4 ขนาดด้วยกัน คือขนาดเล็ก คือโคมที่มีความสูงไม่เกิน 16 นิ้ว หรือ 40 ซม. ขนาดกลาง คือโคมที่มีความสูงตั้งแต่ 16 นิ้ว จนถึง 24 นิ้วหรือ 60 ซม. และโคมขนาดใหญ ่เราจะประมาณให้อยู่ราวๆ ตั้งแต่ 24 นิ้วจนถึง 40 นิ้ว คือตั้งแต่ 60 – 100 ซม.ค่ะ ส่วนโคมขนาดใหญ่พิเศษ หรือโคมขนาดยักษ์ จะมีขนาดความสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป มักจะใช้กับห้องโถงสูง หรือห้องที่เป็น Double Space เป็นหลักค่ะ

โดยปกติแล้ว หลักการเลือกขนาดของโคมไฟตั้งโต๊ะจะขึ้นอยู่กับขนาดของห้องหรือขนาดของเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จัดวางเป็นหลัก เช่น ห้องที่มีขนาดใหญ่ หรือมีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เราก็ควรจะเลือกโคมที่มีขนาดใหญ่สักหน่อย เพื่อให้รับกับห้อง แต่ถ้าจะวางโคมไฟในห้องหรือพื้นที่ขนาดมาตรฐานคือ ตั้งแต่ 20 – 35 ตารางเมตร เราก็ควรจะเลือกโคมไฟที่มีขนาดกลาง เพื่อไม่ให้ห้องผิดสัดส่วน แต่ถ้าบังเอิญ เราได้จัดวางโต๊ะหรือตู้ขนาดเล็กไว้ในห้อง เราก็สามารถเลือกโคมไฟขนาดเล็กมาวางให้รับกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้นๆ ได้ โดยไม่ผิดกติกาค่ะ

การจำแนกขนาดของโคมไฟตั้งพื้นนั้น ค่อนข้างจะง่ายกว่า เพราะมีขนาดไม่มากนัก โดยมาก โคมไฟตั้งพื้น เรา จะแบ่งเป็นสองขนาดเท่านั้น คือโคมขนาดกลาง คือโคมตั้งพื้นที่มีความสูงไม่เกิน 1.80 เมตร ส่วนโคมตั้งพื้นขนาดใหญ่ ก็จะมีความสูงมากกว่านั้น ส่วนการเลือกขนาดของโคมไฟตั้งพื้น ควรจะเลือกให้เหมาะสมกับขนาดของห้อง หรือมุมของห้อง หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ร่วมกัน เช่น  Armchair หรือ Sofa เป็นต้น

นอกจากนี้ ระยะความสูงจากฐานโคมถึงใต้โคมบังไฟ ก็สำคัญเช่นกันค่ะ เพราะปัจจุบัน โคมไฟบางรุ่นมักจะมีโคมบังไฟหรือ Shade ที่ค่อนข้างทึบ ทำให้แสงส่วนใหญ่จากโคมจะลอดออกมาจากด้านบนและด้านล่างของโคมบังไฟเท่านั้น ดังนั้นหากเราจะเลือกซื้อโคมไฟสำหรับใช้อ่านหนังสือ เราควรจะเลือกโคมที่มีระยะความสูงจากฐานโคมถึงใต้โคมบังไฟอย่างน้อย 1.30 เมตร เพื่อให้ได้แสงจากโคมเต็มที่ และหากเราเลือกใช้โคมตั้งโต๊ะ ก็สามารถใช้ระยะความสูงนี้ ลบด้วยความสูงของโต๊ะที่เราวางโคมไฟ ก็จะได้ระยะที่เราต้องนำมาพิจารณาประกอบการเลือกขนาดของโคมตั้งโต๊ะด้วยค่ะ

   ในเรื่องของสไตล์ เราจะพยายามเลือกโคมไฟที่เข้ากับบรรยากาศและดีไซน์ของห้องเป็นหลัก เช่น ห้องที่ค่อนข้างทันสมัย มีลุคที่โฉบเฉี่ยวหน่อยๆ รำเพยก็จะเลือกโคมที่ดูเป็น Modern หรือเป็นงานประเภท Italian Look มีสีสรรค่อนข้างตื่นตา ตื่นใจสักนิดนึง แต่ถ้าห้องเป็นแบบเรียบๆ หรูๆ รำเพยก็จะไปเล็งโคมไฟที่ออกแนวเรียบร้อยสักหน่อย มีฐานโคมเป็นไม้ย้อมสี หรือไม้พ่นสีเป็นหลัก

แต่สำหรับห้องที่ดูโรแมนติคหน่อยๆ เราจะแนะนำให้เลือกโคมไฟแบบคลาสสิค หรือ Vintage เก่าๆ หน่อยๆ ฐานโคมอาจจะทำจากโลหะประเภทเหล็ก หรือทองเหลือง ก็ดูได้ใจดีค่ะ ส่วนห้องที่ต้องการความหรูหรา อลังการ ก็ต้องโคมไฟที่ทำจากแก้วคริสตัล จะบางส่วนหรือทั้งตัว ก็ตามความชอบค่ะ

ส่วนห้องที่อยากให้ดูหวานๆ แบบ Antique หน่อยๆ ก็ลองไปเลือกดูโคมไฟแบบทิฟฟานี ที่เกิดขึ้นในยุค Art Nouveau ได้ ยิ่งถ้าวางคู่กับเฟอร์นิเจอร์สไตล์ยุโรปล่ะก้อ เหมือนได้ข้ามกาลเวลาไปอยู่ในยุคศตวรรษที่ 19 เลยล่ะค่ะ

ว้า! หมดโควต้าซะแล้ว นี่เราเพิ่งจะจบจากการเลือกโคมไฟตั้งพื้นกับตั้งโต๊ะเองนะคะ สงสัยคงต้องขอไปต่อในตอนหน้า สำหรับโคมไฟและการจัดแสงประเภทอื่นๆ ที่เหลือแล้วกันค่ะ สำหรับวันนี้ เราคงต้องขอตัวก่อน แล้วพบกันใหม่เดือนหน้าค่ะ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.